เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2543 กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุญาตให้สถาบันราชภัฏเชียงใหม่ใช้พื้นที่ป่าสงวน จำนวน 109 ไร่ 6 ตารางวา เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้รับความร่วมมือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้นำท้องถิ่น ผู้บริหารสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ และชาวบ้านทุ่งกองมูซึ่งเคยใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว
ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ผู้บริหารสถาบันราชภัฏเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน หัวหน้าส่วนราชการ และผู้นำท้องถิ่น ได้มีการวางแผนและดำเนินงานเพื่อวางแนวทางการพัฒนาพื้นที่จัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกล่อม ลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 อันมีผลให้ “สถาบันราชภัฏ” มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ และใช้ชื่อ “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2547 เป็นต้นมา
วันที่ 1 มีนาคม 2548 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎกระทรวง จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2548 ส่งผลให้ “วิทยาลัยแม่ฮ่องสอน” มีสถานะเป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และเป็นส่วนราชการเดียวของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
คณะกรรมการประจำวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน พร้อมด้วยผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาอุดมศึกษากับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอน 4 ปี (พ.ศ. 2558 – 2561) โดยมีกรอบความคิดเพื่อการพัฒนาทางวิชาการ (Academic Development Plan) และการพัฒนาทางกายภาพ (Physical Development Plan) ใน 3 กลุ่มวิชา (Clusters) คือ วัยเด็ก (ปฐมวัย – ประถมศึกษา) วัยเจริญพันธุ์ (วัยทำงาน) และวัยเกษียณ (ผู้สูงอายุ) เพื่อพัฒนาวิทยาลัยแม่ฮ่องสอน สู่การเป็น วิทยาเขตแม่ฮ่องสอน ซึ่งแผนดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559
วันที่ 19 สิงหาคม 2561 รองศาสตราจารย์ ดร.ประพันธ์ ธรรมไชย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และ นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอนกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทั้งสองหน่วยงานปฏิบัติงานร่วมกันในการสนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะ สืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศวร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมทั้งเพื่อเป็นการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ส่วนราชการในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกิดความร่วมมือเพื่อปฏิบัติงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเสริมสร้างความเข็มแข็งของเครือข่าย
เมื่อการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากประชาคมชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างกว้างขวาง และมุ่งให้การดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 คือ ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน วิจัย ให้บริการวิชาการแก่สังคม ปรับปรุง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี ทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ผลิตครูและส่งเสริมวิทยฐานะครู สภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในคราวประชุมครั้งที่ 18/2561 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 จึงมีมติให้จัดตั้ง “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” เป็นส่วนงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Institute for Local Development Research โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น (Institute for Local Development Research) เป็นส่วนงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่าคณะในมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550 ประกอบกับความในมาตรา 18 (2) แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 โดยออกเป็นประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เรื่อง การจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561 โดยความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในคราวประชุมครั้งที่ 18/2561 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 เป็นต้นมา
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ได้แก่
1. เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา และหรือน้อมนำศาสตร์พระราชาไปสู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในบริบทและมิติที่เหมาะสมกับภูมิสังคม
2. เพื่อวิจัย หรือสนับสนุนการวิจัยที่ตอบสนองนโยบายและสนับสนุนการบริหารงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาท้องถิ่นจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทั้งมิติเชิงพื้นที่และมิติเชิงภารกิจ
3. เพื่อสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ในด้านที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาท้องถิ่น และนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการบริการวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม
การบริหารและการดำเนินงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอยู่ภายใต้นโยบายและการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบจากคณะกรรมการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และมีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นผู้บังคับบัญชา รับผิดชอบงาน และบริหารกิจการในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ และข้อบังคับ ของทางราชการและของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ภายในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นมีหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่ากอง ได้แก่ สำนักงานผู้อำนวยการ โดยมีหัวหน้าสำนักงานผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เป็นผู้กำกับดูแล และภายในสำนักงานผู้อำนวยการฯ มีหน่วยงานภายในที่มีฐานะเทียบเท่างาน ได้แก่ งานบริหารทั่วไป โดยมีหัวหน้างานบริหารทั่วไป เป็นผู้กำกับดูแล
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
1. พระราชบัญญัติการบริหารส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2550
2. พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547
3. ประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เรื่อง จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561
4. การบริหารและการดำเนินงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2561
5. การแบ่งหน่วยงานในสำนักงานผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ. 2563